ในการขับขี่รถยนต์นั้น ระบบเบรก ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถชะลอและหยุดรถอย่างปลอดภัยเพื่อป้องกันผู้ขับขี่จากอันตรายต่าง ๆ การดูแลระบบเบรกให้พร้อมใช้งานจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกันว่า ผ้าเบรกรถคืออะไร ควรเปลี่ยนผ้าเบรกเมื่อไหร่ ทำไมถึงควรเปลี่ยน รวมถึงวิธีสังเกตอาการผ้าเบรกเสื่อมและเทคนิคการเปลี่ยนผ้าเบรกด้วยตัวเองที่ผู้ขับขี่ทุกท่านควรรู้

ผ้าเบรกรถ คืออะไร?

ผ้าเบรกรถ หรือ Brake Pad คือชิ้นส่วนสำคัญที่ทำหน้าที่ในการชะลอความเร็วและหยุดรถ โดยหลักการทำงานของผ้าเบรกคือเมื่อมีการเหยียบเบรก ก็จะดันให้ตัวผ้าเบรกกดเข้ากับจานเบรกเพื่อสร้างแรงเสียดทาน ทำให้ล้อรถหมุนช้าลงและหยุดนิ่งในที่สุด

ผ้าเบรก มีกี่แบบ อะไรบ้าง

ปัจจุบันผ้าเบรกที่นิยมใช้งานกันทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

ผ้าเบรกออร์แกนิก

ผลิตจากวัสดุอินทรีย์อย่าง ใยแก้วไฟเบอร์ เส้นใยเคฟลาร์ หรือยาง เป็นต้น เป็นผ้าเบรกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีข้อดีคือราคาถูก เวลาเบรกแล้วไม่เกิดเสียงดังมาก และกินเนื้อจานเบรกน้อยกว่า เหมาะกับผู้ขับขี่รถในเมืองหรือพื้นที่ที่ไม่ต้องใช้ความเร็วในการขับขี่สูงมากนัก

ผ้าเบรกเซรามิก

ผลิตจากเซรามิกและเส้นใยทองแดง ทำให้มีความทนทานสูงมาก สามารถทนความร้อนได้ดี และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน เหมาะกับการขับขี่ที่ต้องใช้การเบรกมากกว่าปกติ เช่น บนสภาพการจราจรที่หนาแน่น หรือการขับรถขึ้นเขา แต่มีข้อเสียคือราคาสูงกว่าผ้าเบรกชนิดอื่น

ผ้าเบรกเซมิ เมทัลลิค

ผลิตจากโลหะผสม ทองแดง เหล็กกล้า และอื่น ๆ ระหว่าง 30% ถึง 70% ผสมกับสารหล่อลื่นกราไฟต์ มีข้อดีคือสามารถเบรกได้ทันที มีระยะเบรกสั้น สามารถคายความร้อนได้เร็ว แต่มีข้อเสียคือมีเสียงดังและค่อนข้างกินเนื้อจานเบรก เหมาะกับรถบรรทุก และรถที่ขับขี่ด้วยความเร็วสูง

ส่วนผ้าเบรกประเภทเมทัลลิค จะเหมาะกับการใช้งานเฉพาะทาง เช่น รถแข่งที่ต้องการระยะเบรกที่สั้นมาก และใช้ความเร็วในการขับขี่ที่สูงมาก จึงไม่ค่อยนิยมนำมาใช้งานบนถนนทั่วไป เนื่องจากมีเสียงเบรกที่ดังและมีเขม่าควันมากกว่าผ้าเบรกประเภทอื่นที่กล่าวไปข้างต้น

ทำไมถึงควรเปลี่ยนผ้าเบรกรถ จำเป็นไหม?

เมื่อใช้งานผ้าเบรกไปนาน ๆ ผ้าเบรกจะมีความบางลงเรื่อย ๆ จากการเสียดสี ทำให้สร้างแรงเสียดทานได้น้อยลง และหากปล่อยไว้จนผ้าเบรกเกิดการชำรุด ก็จะส่งผลทำให้อุปกรณ์อื่น ๆ ในระบบเบรกเกิดการสึกหรอได้ง่ายขึ้น ผู้ใช้งานจึงควรมีการตรวจเช็กและเปลี่ยนผ้าเบรกอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างการขับขี่ยานพาหนะ

จะเกิดอะไรขึ้น หากไม่ได้เปลี่ยนผ้าเบรกรถเป็นเวลานาน

หากผู้ขับขี่ใช้งานรถยนต์โดยไม่ได้เปลี่ยนผ้าเบรกเป็นเวลานาน ๆ ก็จะทำให้เกิดอาการผ้าเบรกเสื่อม ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายระหว่างการขับขี่ได้ ซึ่งเราสามารถสังเกตอาการผ้าเบรกเสื่อมได้จากสัญญาณเตือนเหล่านี้

1. มีเสียงดังเอี๊ยดอ๊าดตอนเหยียบเบรก

สัญญาณเตือนแรกของอาการผ้าเบรกเสื่อมคือ เสียงเบรกที่ดังขึ้นเมื่อเหยียบเบรกทุกครั้ง ซึ่งเป็นได้ทั้งเสียงเอี๊ยดอ๊าดและเสียงของชิ้นส่วนเหล็กกระทบกัน ซึ่งเกิดจากการที่ผ้าเบรกหมดจนทำให้เสียดสีกับจานเบรกโดยตรง

2. มีสัญญาณไฟเตือนเบรกมือขึ้นค้างสีแดง

โดยปกติแล้วไฟเตือนเบรกมือจะแสดงขึ้นเวลาที่เราลืมปลดเบรกมือลง แต่ถ้าหากเราปลดเบรกมือแล้วแต่ยังมีไฟขึ้นอยู่ นั่นหมายถึงระบบเบรกส่วนอื่น ๆ อาจเกิดความผิดปกติ หนึ่งในนั้นคืออาการผ้าเบรกสึกหรอ ที่ทำให้ระดับน้ำมันเบรกลดลงจนอยู่ต่ำกว่าระดับขีด MIN และแสดงไฟเตือนขึ้นมาได้

3. เวลาดึงเบรกมือ ดึงยากขึ้น

อีกหนึ่งอาการผ้าเบรกเสื่อมที่ไม่ควรมองข้าม คือเมื่อจอดรถและดึงเบรกมือขึ้น จะรู้สึกว่าเบรกมือหลวมจนต้องยกสูงกว่าปกติเพื่อให้เบรกทำงาน เนื่องจากผ้าเบรกบางลง ทำให้ไม่สามารถสัมผัสกับจานเบรกได้อย่างสนิทตามปกติ

4. เหยียบเบรคแล้วรู้สึกจมไม่หยุดเหมือนเคย

หากคุณเหยียบเบรคแล้วรู้สึกจม ต้องเหยียบเบรคซ้ำ ๆ รถถึงจะหยุด หรือต้องออกแรงเหยียบเบรคเยอะขึ้นมากกว่าปกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของอาการผ้าเบรคเสื่อมที่เราต้องรีบแก้ไขในทันที เพราะมันอาจทำให้เราสูญเสียการควบคุมรถได้ในระหว่างที่ขับขี่ เกิดเป็นอุบัติเหตุอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนท่านอื่น ๆ

5. รู้สึกเหมือนพวงมาลัยสั่นเมื่อเหยียบเบรค

หากผ้าเบรคสึกหรือเสื่อมสภาพ มันจะสัมผัสกับจานเบรกได้ไม่สม่ำเสมอเหมือนเก่า ส่งผลให้เกิดอาการพวงมาลัยสั่นในตอนที่เราเหยียบเบรคนั่นเอง หากคุณรู้สึกถึงอาการผิดปกตินี้ก็ควรรีบนำรถเข้าอู่เพื่อตรวจหาสาเหตุ ถ้าปัญหาเกิดจากอาการผ้าเบรคเสื่อมจริง ๆ ก็ควรรีบเปลี่ยนผ้าเบรครถใหม่ในทันที จะได้ลดความรำคาญและขับรถได้อย่างสบายใจ

นอกจากนี้ ยังมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น พวงมาลัยสั่นเมื่อเบรกรถ ซึ่งเกิดจากการที่ผ้าเบรกสัมผัสกับจานเบรกไม่สม่ำเสมอ หรือเมื่อเหยียบเบรกแล้วรู้สึกว่าเบรกจม หรือต้องใช้แรงเยอะกว่าปกติ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นอาการของผ้าเบรกเสื่อมซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่อย่างมาก

ควรเปลี่ยนผ้าเบรกรถเมื่อไหร่ 

โดยปกติแล้วผ้าเบรกจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 50,000 – 60,000 กิโลเมตร หากใช้งานครบระยะทางแล้วจึงควรเปลี่ยนผ้าเบรกตามกำหนด เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ อย่างลักษณะการขับรถ เช่น การขับรถในเมืองที่มีการเบรกรถบ่อยกว่าการขับรถตามชนบท หรือพฤติกรรมการขับขี่ที่สุ่มเสี่ยง เช่น การเบรกรถกระชั้นชิด ก็อาจทำให้ผ้าเบรกเสื่อมเร็วกว่ากำหนดได้ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดจึงควรสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น ควบคู่กับระยะเวลาใช้งานว่านานเกินกำหนดแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ หากพบว่าจานเบรกเกิดการสึกหรอหรือเกิดสนิมขึ้นก็ควรเจียรจานเบรกไปพร้อม ๆ กัน เพื่อบำรุงรักษาระบบเบรกให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

อุปกรณ์ที่ใช้ในการเปลี่ยนผ้าเบรก

สำหรับผู้ขับขี่ที่ต้องการเปลี่ยนผ้าเบรกด้วยตัวเอง ควรเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการทำงาน ได้แก่

1. แม่แรงยกรถ

ใช้สำหรับยกรถขึ้นเพื่อถอดล้อออก ควรเลือกแม่แรงที่มีขนาดเหมาะสมกับน้ำหนักรถ และตรวจสอบสภาพของแม่แรงก่อนใช้งานว่าไม่มีการชำรุดเสียหาย เพื่อความปลอดภัยระหว่างการทำงาน

2. ชุดประแจติดรถ

ประกอบด้วยประแจล้อ ประแจไขบล็อก และประแจอื่น ๆ ที่จำเป็น ใช้สำหรับถอด/ยึดล้อ และถอดหมุดยึดเบรก

3. จาระบีเบรก

ใช้สำหรับทาหล่อลื่นระหว่างผ้าเบรกใหม่และคาลิปเปอร์เบรกไม่ให้เกิดการฝืดหรือติดขัดระหว่างใช้งาน

4. C-Clamp หรือตัวกดลูกสูบเบรก

ใช้สำหรับกดอัดลูกสูบดิสก์เบรก ช่วยให้ประกอบผ้าเบรกได้อย่างแน่นหนา

5. ผ้าเบรกใหม่

ควรเลือกผ้าเบรกโดยคำนึงปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ลักษณะการขับขี่ ประเภทของรถ รวมถึงราคาที่เหมาะสม

6. สเปรย์ทำความสะอาดระบบเบรกและผ้าชุบน้ำ

ใช้ทำความสะอาดสิ่งสกปรกต่าง ๆ เช่น ฝุ่น จาระบีเก่า คราบน้ำมัน ภายในจุดต่าง ๆ ของระบบเบรก

7. ถุงมือ

ใช้เพื่อป้องกันมือจากคราบสกปรก สารเคมี และความร้อน

วิธีการเปลี่ยนผ้าเบรกรถง่าย ๆ ทำได้ด้วยตัวเอง

และหลังจากที่เตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาในการเปลี่ยนผ้าเบรกด้วยตัวเอง โดยมีขั้นตอนต่าง ๆ ที่ควรรู้ ดังนี้

1. เตรียมรถให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ้าเบรก

โดยจอดรถในบริเวณที่ปลอดภัย ไม่ลาดเอียง ดึงเบรกมือ ใช้แม่แรงยกรถดันรถให้สูงขึ้น และใช้ขาตั้งรองเพื่อป้องกันการทรุดตัวของแม่แรง

2. ถอดล้อ

ทำการถอดล้อด้วยประแจล้อ และทำความสะอาดฝุ่นละออง คราบน้ำมัน และสิ่งสกปรกอื่น ๆ บริเวณจานเบรกและจุดต่าง ๆ ด้วยสเปรย์ทำความสะอาดระบบเบรกและผ้าชุบน้ำ

3. ถอดคาลิปเปอร์เบรก

ใช้ประแจไขบล็อกถอดหมุดคาลิปเปอร์เบรกออกอย่างระมัดระวัง โดยไม่ให้โดนส่วนของสายเบรกจนเกิดความเสียหาย และนำผ้าเบรกเก่าออก

4. เตรียมผ้าเบรกอันใหม่

โดยนำจาระบีทาที่บริเวณด้านหลังของผ้าเบรก รวมถึงส่วนที่สัมผัสกับคาลิปเปอร์เบรก ติดตั้งผ้าเบรกใหม่และนำ C-Clamp หรือตัวกดลูกสูบเบรกดันให้มีพื้นที่ในการใส่ผ้าเบรกใหม่เข้าไปได้

5. ประกอบคาลิปเปอร์เบรกเข้าที่

ตรวจเช็กความเรียบร้อยภายในระบบเบรกอีกครั้ง ก่อนประกอบคาลิปเปอร์เบรกกลับเข้าที่ และยึดสลักเบรกให้แน่นด้วยประแจไขบล็อก

6. ประกอบล้อ

ประกอบล้อคืนทั้ง 4 ข้างด้วยประแจล้อ และตรวจเช็กให้แน่ใจว่าใส่นอตครบทุกตัว ก่อนจะนำขาตั้งออกและลดแม่แรงลงให้ล้อสัมผัสพื้น

7. ทดสอบระบบเบรก

สตาร์ทรถและทำการเหยียบเบรกเพื่อให้ระบบเบรกเข้าที่ รวมถึงทดสอบขับรถและเบรกรถว่าเบรกที่ติดตั้งลงไปใหม่นั้นทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพหรือไม่

การดูแลรักษาระบบเบรกให้ทำงานอย่างราบรื่น รวมถึงเปลี่ยนผ้าเบรกเมื่อครบอายุการใช้งาน จะช่วยยืดอายุการใช้งานรถยนต์ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่ได้เป็นอย่างดี และหากรถยนต์ของคุณเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเบรกหรือระบบอื่น ๆ จนทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ ก็ควรนำรถเข้าตรวจเช็กสภาพที่อู่หรือศูนย์บริการที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญ เพื่อทำการตรวจสอบและซ่อมแซมจุดที่สึกหรอให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ


สำหรับลูกค้า Nissan SMT สามารถขับรถเข้ามาเช็กอาการได้ที่ศูนย์นิสสัน SMT Thailand ทุกสาขา เรามีช่างผู้ชำนาญให้บริการตรวจเช็กสภาพรถยนต์และซ่อมรถยนต์ด้วยขั้นตอนที่ได้มาตรฐาน พร้อมให้คำปรึกษาและวิเคราะห์ทุกเรื่องเกี่ยวกับเครื่องยนต์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้ลูกค้าทุกท่านพึงพอใจและได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด